พงศา ชูแนม และ พรรคกรีน

สังคม มั่นคง-เป็นธรรม เริ่มที่ชนบท

ประเทศไทยนั้น มีปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ในเกณฑ์สูงมากประเทศหนึ่งของโลก

“รวยกระจุก-จนกระจาย”
คือคำที่ได้ยินกันมาช้านาน  โดยเฉพาะชะตากรรมของ “คนชนบท”  ที่อยู่กับภาคเกษตรกรรมในบ้านเกิดก็ยากจน พอเข้ามาในเมืองก็ลำบากเรื่องค่าครองชีพอีก เรื่องนี้พูดกันมาหลายสิบปี แต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยจะเกิดขึ้นมากเท่าใดนัก

ทำให้ พงศา ชูแนม
นักอนุรักษ์ธรรมชาติที่ได้รางวัลมาแล้วมากมาย
ลุกขึ้นมาตั้ง “พรรคกรีน”
เน้นชูนโยบายช่วยเหลือชาวชนบทอย่างแท้จริง
และวันนี้ได้มาบอกเล่ากับทีมงาน “แนวหน้า” ถึงที่มาที่ไป

 
- อะไรคือสาเหตุให้ต้องตั้งพรรค?

พงศา : หลักๆ คือเรื่องของต้นไม้
ที่ผ่านมาเราพยายามเสนอนโยบาย “ธนาคารต้นไม้” มาตลอดในทุกๆ รัฐบาล
โดยให้มีกฎหมายรับรองว่า “ต้นไม้เป็นทรัพย์สินมีค่าอย่างหนึ่ง”
แต่แม้ข้อเสนอจะถูกนำเข้าไปพิจารณาในรัฐสภา
แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป
รวมถึงรัฐบาลปัจจุบัน (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ-คสช.)
ที่นำเข้าไปในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
ก็พบว่าได้เพียงไปอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เท่านั้น
แต่เรามองว่าเหมือน “สัญญาปากเปล่า” ไม่มีหลักประกัน
เรื่องนี้เราผลักดันกันมาแล้ว 12 ปี
ดังนั้นคงไม่อาจทำแบบเดิมอีก

- เข้าใจถูกหรือไม่?
ว่าธนาคารต้นไม้คือเรื่องการ “ปลดล็อก” ให้ประชาชนปลูกไม้หวงห้าม (เช่น ไม้สัก ไม้พะยูง) ในที่ดินของตนเองแล้วตัดไปขายได้
ซึ่งจะลดทั้งปัญหาการลักลอบตัดไม้ในป่าและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

พงศา : เรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง คือไม้ที่ประชาชนปลูกต้องเป็นของประชาชน ทุกวันนี้ประชาชนปลูกแต่กลายเป็นไม้ของรัฐ

แต่หลักๆ คือ “ต้องมีกฎหมายรับรองมูลค่าต้นไม้ตั้งแต่ยังมีชีวิต”
ไม่จำเป็นต้องโค่นลงแล้วเท่านั้นจึงจะมีมูลค่า
เรามองว่ามันไม่ยุติธรรม ตอนมันยืนต้นมันก็มีคุณค่ามากเลย ทำไมเราไม่ตีมันให้มีมูลค่า ใช้เป็นหลักทรัพย์ไปค้ำประกันผู้ต้องหา ไปค้ำหนี้ธนาคาร ใช้ได้เหมือนทรัพย์สินอื่นๆ โดยมีองค์กรหนึ่งมาจัดการเรื่องพวกนี้ และมีกองทุนมาส่งเสริมประชาชนให้มีรายได้จากต้นไม้ตั้งแต่เริ่มปลูก เมื่อปลูกแล้วขายได้ก็นำเงินมาคืนกองทุน

- ทำไมต้องชื่อพรรคกรีน?

พงศา : เดิมทีมีพรรคการเมืองชื่อพรรคธรรมาภิบาล
เขาจะให้ผมเป็นหัวหน้าพรรคช่วงปี 2557 แต่ตอนนั้นผมไม่เอา ยังไม่อยากลงการเมือง
แต่พอปลายปี 2560 รู้สึกว่าเรื่องที่พยายามผลักดันผลักอย่างไรก็ไม่ไป จึงไปบอกทางพรรคว่าที่จะให้พรรคผมเมื่อก่อน วันนี้ผมเอาแล้วนะ
ก็มาคุยกันในกลุ่มสมาชิกว่าเรามีแนวทางที่สอดคล้องกับแนวพรรคกรีนสากล
แบบนั้นเราจดตั้งพรรคใหม่เลยดีกว่า
ชื่อพรรคกรีน

ตราสัญลักษณ์และคำขวัญของพรรคกรีน

- ชื่อเหมือนพรรคทางยุโรป
แนวคิดของฝรั่งตะวันตกคนไทยจะเข้าใจหรือ?

พงศา : คนที่หัวก้าวหน้าจะรู้จักพรรคกรีน
ทีนี้เราเชื่อว่าเราไม่ดูถูกประชาชน เราคิดว่าประชาชนก้าวหน้า เราก็ตัดสินใจตั้งพรรคกรีน ซึ่งเราไม่ได้ทำแค่เรื่องต้นไม้แล้ว ก็สรุปนโยบายมาแล้วมันก็สอดคล้องกับแนวทางพรรคกรีนโดยบังเอิญคือ
“ต้นไม้เป็นทรัพย์สิน
ที่ทำกินถูกต้องเป็นธรรม
เกษตรกรรมสุขภาพ
สันติภาพยั่งยืน”

เช่น ต้นไม้เป็นทรัพย์สิน
ก็คือพรรคกรีนจะผลักดัน พ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้

- เท่าที่ทราบได้ยินว่าจะแก้ปัญหาที่ดินให้กับคนระดับล่างด้วย?

พงศา : คือถึงต้นไม้จะเป็นทรัพย์สิน
แต่ที่ดินทำกินที่ไม่ถูกต้องก็มีเยอะมาก
คนปลูกต้นไม้ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร
ทราบหรือไม่ว่าคน 17 ล้านคน อยู่ในที่ดินผิดกฎหมาย

17 ล้านคน นี่เท่ากับ 1 ใน 4 ของคนไทยทั้งประเทศ หมายถึงคนไทยเดินมา 4 คน มีคนทำผิด 1 คน เรามองว่ามันไม่เป็นธรรม

ดังนั้น เราจะทำให้ที่ดินทำกินทุกตารางนิ้วถูกกฎหมาย โดยที่ประเทศไม่ต้องสูญเสียที่แม้แต่นิดเดียว

และนอกจากถูกต้องแล้วต้องเป็นธรรมด้วย อย่างที่ดิน 129 ล้านไร่ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน เกือบ 80 ล้านไร่อยู่ในมือคนรวย ซึ่ง “ถูกต้องแต่ไม่เป็นธรรม” เราก็จะต้องทำให้เป็นธรรม
คือ “ถ้าไม่ยอมให้คนยากคนจนเช่าระยะยาวภาษีก็จะแพง” แต่ถ้าให้เช่าระยะยาวภาษีก็จะลดลง เป็นการจูงใจไปในตัว อันนี้เป็นนโยบายที่ดินเป็นธรรม

- เกษตรกรรมสุขภาพคืออะไร?
พงศา : เรามองว่าทุกวันนี้คนไทยเป็นโรคที่เกิดจากการกินอาหารที่มีสารเคมี จึงคิดว่าต่อจากนี้เราต้องทำเรื่องเกษตรสุขภาพให้ได้ จะมีนโยบายที่จับต้องได้คือ
“อาหารสุขภาพ 50 บาท”
โดยให้เกษตรกรปลูกพืชผักที่ปลอดภัยเพื่อบริโภคก่อน เมื่อเหลือแล้วนำเข้าระบบแพ็คใส่ถุงขนาด 50 บาท นำไปวางตามร้านสะดวกซื้อผ่านระบบขนส่งที่ทันสมัย คนซื้อก็สแกนเงินค่าของค่าขนส่ง อะไรประมาณนี้

หลักการ “ธนาคารต้นไม้”
(ว่าที่) นโยบายชูโรงของพรรคกรีน

- มองการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอย่างไร?
พงศา : การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ เพราะ “จะไม่มีคนแพ้”
ที่ผ่านมาพรรคอื่นได้ 6 หมื่น เราได้ 5 หมื่น เราแพ้จบเลย แต่ครั้งนี้  “เราได้ 5 หมื่นเราแพ้
แต่เราไปรวมกับเขตอื่นอีก 2 หมื่น ได้ 7 หมื่น เราได้ ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) แล้วคนหนึ่ง”
เราก็มองว่าเหมือนกับการมี ส.ส. เชิงกลุ่มปัญหาเชิงประเด็น
เรามีพวกปลูกต้นไม้หลายล้านคน ผู้มีปัญหาที่ดินทำกินอีก 17 ล้านคน ถ้าเรารวมตัวแล้วนำเสนอปัญหาว่า ถ้าพวกเราเลือกพวกเรา ถึงแพ้ทุกเขตก็ไม่เป็นไร  ถ้าเรารวมได้สัก 7 ล้านเสียง เราก็จะมี ส.ส. 100 คน
และเราคิดว่าเราก็มีพวกเยอะ

- ดูเหมือนพรรคกรีนจะเน้นนโยบายเพื่อคนชนบทเป็นหลัก
แบบนี้จะได้ฐานเสียงจากคนในเมืองหรือ?

พงศา : จริงๆ แล้วเรื่องต้นไม้มันได้ทั้งคนเมืองและคนชนบท แต่ทีนี้ที่เราเน้นคนชนบทเพราะมันเป็นความจริงที่ว่า
“ทุกครั้งที่เศรษฐกิจไทยดี เกิดจากรากฐานที่ชนบท”
คนชนบทมีเงินจับจ่ายใช้สอย
ทุกครั้งที่เศรษฐกิจคนชนบทดี เศรษฐกิจในเมืองก็จะดีไปด้วย
ฉะนั้นเราจึงต้องไปพัฒนาที่ราก
แล้วก็จะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด

ประวัติโดยย่อของ พงศา ชูแนม

- เคยรับราชการในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ จ.ชุมพร และได้รับการตั้งฉายาจากเพื่อนร่วมงานว่า “สืบ นาคะเสถียร แห่งต้นน้ำพะโต๊ะ” จากการเอาจริงเอาจังในการทำหน้าที่

- ในปี 2542 ได้รับรางวัล “ลูกโลกสีเขียว” ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติในแวดวงนักอนุรักษ์ธรรมชาติ เนื่องจากมีผลงานสามารถจับกุมผู้ลักลอบตัดไม้ได้ถึง 57 คน ในรอบปีก่อนหน้า

- ปี 2550 ได้รับรางวัล “ค้นฅนดี” จากรายการคนค้นฅน

- ปี 2553 ได้รับรางวัลจากองค์กรโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี-UNDP)

- ปี 2557 ได้รับรางวัล “เพชรจรัสแสง” ซึ่งเป็นรางวัล “ข้าราชการตัวอย่าง” ในสังกัดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

- ลาออกจากราชการในปี 2557 เพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จ.ชุมพร

แต่ผลคะแนนแพ้ให้กับ พ.ต.อ.นรินทร์ บุษยวิทย์ อดีตรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร ทว่าต่อมา ส.ว.ทั้งชุดก็พ้นสภาพไปจากการเข้าควบคุมอำนาจของ คสช.

- ปัจจุบันทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน ในนามมูลนิธิธนาคารต้นไม้